Skip to content

5 สุดยอดสมุนไพร “แก้ไอ”

อาการไอ เป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่เกิดขึ้น เมื่อต้องการขับสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคที่ระคายเคืองทางเดินหายใจออกไป ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจเป็นภูมิแพ้ เช่น แพ้ฝุ่น ควัน สารระคายเคืองต่างๆ หรืออาจเกิดจากการอักเสบและติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ 

ซึ่งวิธีรักษาอาการไอนั้น นอกจากรักษาตามแนวแพทย์แผนปัจจุบัน คุณอาจเลือกใช้วิธีดูแลตนเองด้วย 5 สมุนไพรที่หาได้ใกล้ตัวต่อไปนี้ 

1. ขิง

เป็นพืชที่มีสรรพคุณมากมาย ผู้คนมักนำเหง้าขิงมาประกอบอาหาร หรือนำมาทำเป็นยา เหง้าขิงมีรสเผ็ดหวาน เหมาะสำหรับนำมาใช้บรรเทา รักษาอาการไอ เจ็บคอ

เพราะในขิงนั้นมีสารสำคัญซึ่งอยู่ในกลุ่มน้ำมันหอมระเหย เช่น จินเจอรอล (Gingerol) ซิงเจอโรน (Zingerone) โชเกล (Shogoal) ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยขับลม บรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ บรรเทาอาการคลื่นเหียน แก้อาเจียน แก้ไอ และช่วยขับเสมหะได้ดี 

วิธีใช้: นำเหง้าแก่สด 5 กรัม หรือประมาณ 2 หัวแม่มือ ตำแล้วเติมน้ำเล็กน้อย คั้นเอาแต่น้ำผสมกับเกลือเล็กน้อย หรือใช้เหง้าขิงมาฝนกับน้ำมะนาว ใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ

นอกจากวิธีดังกล่าว ปัจจุบันยังมีขิงผง หรือขิงสำเร็จรูป ที่สามารถนำมาชงดื่มได้เลย แต่ควรเลือกชนิดที่ปราศจากน้ำตาล หรือมีน้ำตาลในปริมาณน้อย

2. ผลมะแว้ง

มีรสขม สารสำคัญที่พบคือ อัลคาลอยด์ (Alkaloid) โซลาโซดีน (Solasodine) และโซลานีน (Solanine) ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท และระบบหายใจ จึงช่วยบรรเทาอาการไอ 

นอกจากนี้ ยังมีสารลิกนิน (Lignin) และซาโปนิน (Saponin) ที่ช่วยลดการอักเสบ ละลาย และขับเสมหะได้ดี

วิธีใช้: ตามภูมิปัญญาดั้งเดิมจะใช้มะแว้งสด 5-6 ผล ล้างให้สะอาด นำมาเคี้ยวและอมไว้ หรือใช้ผลแก่สด 5-10 ผล นำมาโขลกพอแหลก คั้นน้ำ ผสมเกลือเล็กน้อย ใช้จิบบ่อยๆ หรือจิบเวลาที่ไอ

ในปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบให้รับประทานได้ง่ายขึ้น คือ ยาอมมะแว้ง ที่มีรสชาติดี ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาอาการไอ ยังเป็นการป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงยิ่งขึ้นอีกด้วย

3. มะนาว

เป็นพืชที่เป็นที่รู้จักทั่วไปในประเทศไทย นิยมนำมาประกอบอาหารเพื่อเพิ่มรสชาติ เพิ่มความเปรี้ยวให้อาการประเภทยำ ต้มยำต่างๆ 

นอกจากนี้ น้ำมะนาวยังสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคได้อีกด้วย เนื่องจากในน้ำมะนาวมีกรดอินทรีย์หลายชนิดจึงมีรสเปรี้ยว ซึ่งจะกระตุ้นให้มีการขับน้ำลาย ทำให้ชุ่มคอ จึงช่วยลดอาการไอ กัดเสมหะ แก้ไอ แก้เลือดออกตามไรฟัน 

วิธีใช้: ทำได้หลากหลายแนวทาง เช่น

  • ใช้มะนาว 1 ผล บีบเอาน้ำมะนาวมาชงกับน้ำร้อนดื่ม ช่วยขับเสมหะ
  • ใช้มะนาวฝานบางๆ จิ้มเกลือรับประทานเวลามีอาการ 
  • ใช้ผลสดคั้นเอาแต่น้ำมาผสมเกลือ จิบบ่อยๆ
  • นำเมล็ดมะนาวนำไปคั่วให้เหลือง บดให้ละเอียด เติมพิมเสน 2-5 เกล็ด ชงน้ำร้อนรับประทาน เป็นยาขับเสมหะ

4. มะขามป้อม

มีรสเปรี้ยวอมฝาด มีสารที่ออกฤทธิ์ต่อปอด ม้าม และกระเพาะ รับประทานเป็นยาบำรุง ทำให้สดชื่น แก้กระหายน้ำ แก้หวัด แก้ไอ กระตุ้นน้ำลาย ช่วยให้ชุ่มคอ ละลายเสมหะ แก้เลือดออกตามไรฟัน ช่วยขับปัสสาวะ และเป็นยาระบายอ่อนๆ

วิธีใช้: ใช้เนื้อผลแก่สด ครั้งละประมาณ 2-3 ผล โขลกพอแหลก แทรกเกลือเล็กน้อย อมหรือเคี้ยว รับประทานวันละ 3-4 ครั้ง หรือใช้ผลสดฝนกับน้ำแทรกเกลือ จิบบ่อยๆ หรือใช้ผลสดจิ้มเกลือรับประทาน

ในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนายาจากสมุนไพร เพื่อเพิ่มความสะดวกในการรับประทาน ซึ่งมียาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ คือ ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม ใช้จิบเมื่อมีอาการไอทุก 4 ชั่วโมง 

อย่างไรก็ตาม ยาแก้ไอผสมมะขามป้อมนั้นห้ามใช้ในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ เนื่องจากมีส่วนประกอบของน้ำตาล นอกจากนี้ควรระวังการใช้มะขามป้อมในผู้ป่วยที่ท้องเสียง่าย เนื่องจากมะขามป้อมมีฤทธิ์เป็นยาระบาย

5. ฟ้าทะลายโจร

มีสารสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ แอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) และอนุพันธ์ ซึ่งมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ ต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย ช่วยรักษาอาการไอ เจ็บคอ ป้องกันและบรรเทาหวัด ลดการอักเสบ

วิธีใช้: ใช้ใบฟ้าทะลายโจรสดหรือแห้ง (ใบสดจะมีสรรพคุณที่ดีกว่า) ประมาณ 5-7 ใบ ใส่ในแก้ว เติมน้ำร้อนแล้วปิดฝาทิ้งไว้ประมาณ 15-30 นาที แล้วก็นำมารินดื่ม 

เวลาที่เหมาะสำหรับดื่มน้ำสมุนไพรฟ้าทะลายโจร คือ ก่อนอาหาร และก่อนนอน ครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3-4 ครั้ง หากรับประทานแบบแคปซูล มีวิธีรับประทานตามวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน ดังนี้

  • บรรเทาอาการเจ็บคอ รับประทานครั้งละ 3-6 แคปซูล (แคปซูลขนาด 500 มิลลิกรัม) วันละ 4 ครั้ง บรรเทาอาการหวัด 
  • รับประทานครั้งละ 2-3 แคปซูล (แคปซูลขนาด 500 มิลลิกรัม) วันละ 4 ครั้ง โดยแนะนำให้รับประทานติดต่อกันไม่เกิน 7 วัน และหากรับประทานแล้วอย่างน้อย 3 วัน อาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์

ข้อควรระวัง ไม่ควรรับประทานฟ้าทะลายโจรต่อเนื่องเป็นเวลานานเกินไป เพราะอาจทำให้แขนขามีอาการชาหรืออ่อนแรง และควรระวังในการใช้กับหญิงตั้งครรภ์ และห้ามใช้ฟ้าทะลายโจรสำหรับแก้เจ็บคอในกรณีต่อไปนี้

  • ในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอเนื่องจากติดเชื้อสเตรปโทคอกคัส กลุ่มเอ (Streptococcus group A)
  • ในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคไตอักเสบเนื่องจากเคยติดเชื้อสเตรปโทคอกคัส กลุ่มเอ
  • ในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจรูห์มาติค (Rheumatic Heart Disease: RHD)
  • ในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอ เนื่องจากมีการติดเชื้อแบคทีเรีย และมีอาการรุนแรง เช่น มีตุ่มหนองในคอ มีไข้สูง หนาวสั่น

อาการไอ เจ็บคอ มีเสมหะ มีน้ำมูก หรืออาการต่างๆ ที่เกิดจากหวัด สามารถดูแลรักษาตนเองเบื้องต้นได้ ด้วยการรักษาความอบอุ่นของร่างกาย จิบน้ำอุ่น และรับประทานสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยแก้ไอ หรือรักษา และป้องกันหวัดดังที่กล่าวมาข้างต้น 

แต่นอกเหนือจากนั้น คุณควรสังเกตอาการตนเอง หากรับประทานยาสมุนไพรแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจ วินิจฉัยโรคอย่างแน่ชัด เพื่อให้รักษาได้อย่างทันท่วงที และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือโรคที่รุนแรงที่อาจเกิดตามมา

ที่มา: honestdoc
ภาพจาก: freepik