Skip to content

8 เรื่องที่ต้องทำให้เป็นปกติในช่วงวิกฤติ

ในช่วงโควิคนี้ หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า New Normal กันมาบ้างแล้วนะคะ ซึ่งก็หมายถึง ชีวิตวิถีใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ เช่นการสวมหน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) หรือการดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยของตัวเราเองให้มากขึ้นกว่าที่เคยเป็น

แต่ในขณะที่กำลังเกิด New Normal ขึ้น ก็ยังมีอีกหลายเรื่องเก่าที่เราไม่อาจจะมองข้ามหรือเพิกเฉยไปได้ เป็นเรื่องเก่าที่เรายังคงต้องทำหรือปฏิบัติให้เป็นปกติอยู่ในทุกๆวันโดยเฉพาะในสถานกาณ์โควิดนี้ ไม่เช่นนั้น เราก็อาจจะสูญเสียอะไรบางอย่างไปโดยที่เราไม่รู้ตัวก็ได้…วันนี้ป้าเจนเลยรวบรวม 8 เรื่องสำคัญ ที่ไม่ New แต่ Normal ที่ไม่ควรละเลยมาฝากกันค่ะ ไปดูกันเลยจ้า

1. กินให้เป็นปกติ อย่าวิตกกังวลมากจนเกินไปทำให้ไม่กินอะไร หรือกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เพราะจะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายโดยตรงได้ หากไม่สะดวกก็ทำอาหารง่ายๆ เช่น หุงข้าว ทอดไข่ เป็นต้น

2. นอนให้ปกติ การนอนหลับให้เพียงพอเป็นภูมิคุ้มกันชั้นดี ป้องกันไวรัสและภาวะซึมเศร้าได้ แถมการนอนน้อยก็ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวอีกด้วยนะคะ

3. เชื่อมต่อกับผู้คน แม้จะเจอเพื่อนฝูงผู้คนเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้ แต่ยังสามารถเชื่อมต่อ พูดคุยปรึกษาหารือกันได้ โดยใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อถึงกัน อย่าถึงกับต้องอยู่คนเดียวไม่พูดคุยกับใคร เพราะจะยิ่งทำให้เกิดภาวะเครียดขึ้นมาได้อีกค่ะ

4. หากิจกรรมทำอย่าให้ว่าง แม้จะ Work From Home ก็ควรทำตัวเหมือนปกติ ห้ามขี้เกียจ ตื่นเช้า อาบน้ำ แต่งตัว หรือออกกำลังกายตามยูทูบแทนการไปฟิตเนส หรือใครเริ่มออกไปทำงานแล้วก็ดีใจด้วยนะคะ แต่ก็อย่าลืมป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคนะคะ

5. ทำสิ่งที่สนใจและงานอดิเรกที่ชอบ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ออกกำลังกายสมอง ใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ทำกิจกรรมในเงื่อนไขสถานการณ์ที่จำกัด เช่น ลองวาดรูปภาพด้วยอุปกรณ์เท่าที่มี อบขนมหรือทำอาหารง่ายๆ ฟังเพลง เป็นต้น เพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดทั้งความเครียดได้ แถามเราอาจจะเจอสิ่งให้ที่เราทำได้ดี จนมาต่อยอดสร้างรายได้ หรือมาเติมเต็มความสุขในชีวิตเราก็ได้นะคะ

6. ฝึกปรับทัศนคติ อย่าตระหนก อย่ากังวลจนเกินไป โดยใช้หลักการ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) คือ ทุกครั้งที่มีความรู้สึกแย่ๆ เกิดขึ้นต้องรู้สึกตัว ลองใช้เวลาสักวันละ 5 นาที สำรวจ ทบทวนความคิด ความรู้สึก หรือการตอบสนองทางร่างกาย หรือถ้าไม่แน่ใจลองสอบถามหรือพูดคุยกับรอบข้างและคนใกล้ชิดก็ได้ค่ะ ระบายออกมาบ้างนะคะ

7. เมื่อรับรู้ถึงความรู้สึกลบ ไม่ต้องพยายามปรับให้เป็นบวก โดยการอยู่บนพื้นฐานความจริง อยู่แบบกลางๆ (Neutral) มีทั้งลบและบวก เมื่อรู้สึกแล้วก็แค่รับรู้ว่ามันเป็นความรู้สึก ไม่ต้องไปหงุดหงิดซ้ำซ้อน ยอมรับว่าความผิดพลาด ความล้มเหลวเป็นสิ่งที่อาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ใช้ชีวิตให้ช้าลงสักนิด เช่น ขณะทานข้าวไม่ต้องเปิดดูข่าวไม่ต้องคุยกันเรื่องโควิด-19 ลองใช้เวลาสั้นๆ รับรู้รสชาติ พักความคิดสัก 10 วินาที แล้วลองฝึกที่จะจดจ่ออยู่กับวินาทีที่เป็นปัจจุบัน นั่นคือช่วงที่จิตใจได้รับการบำบัด เทคนิคนี้เรียกว่า Mindfulness ฝึกให้ได้วันละนิดเมื่อนึกได้ เมื่อจิตใจได้พักเติมพลังเป็นระยะๆ จะมีเรี่ยวแรงออกไปสู้รบกับสถานการณ์ยากๆได้ใหม่ค่ะ ^^

8. Sharing is Caring คงความสัมพันธ์ไว้ให้มั่น แม้จะห่างกายตามนโยบาย Social Distancing แต่ไม่จำเป็นต้องห่างกัน โดยเฉพาะกับครอบครัว คนรัก สามารถโทรคุยกัน หรือจะ VDO Call ให้เห็นหน้ากันบ้าง ให้รู้ว่ายังมีคนที่รักและห่วงใยเราอยู่ และเราก็จะได้แสดงออกซึ่งความรักและความห่วงใจกลับไปให้เค้าเหล่านั้นเช่นกันในช่วงเวลาโควิดแบบนี้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ