Skip to content

วัย 35UP ต้องอ่าน!! เมื่อฮอร์โมนเริ่มขาดสมดุล

ระดับของความสมดุลฮอร์โมนในร่างกายเราจะเริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อายุประมาณ 35 ปี ซึ่งก่อให้เกิดภาวะหรืออาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน อาทิ ระดับพลังงาน ระบบการเผาผลาญในร่างกายลดลง สุขภาพผิวพรรณมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ผิวแห้งกร้านหมองคล้ำไม่สดใส มวลกล้ามเนื้อลดลง อีกทั้งปริมาณไขมันสะสมในร่างกายเพิ่มขึ้น กระดูกบาง สมองเสื่อม นอนหลับยากขึ้น หงุดหงิดง่ายซึมเศร้า รวมไปถึงความต้องการทางเพศลดลงไปด้วย ที่สำคัญการที่ร่างกายขาดฮอร์โมนอาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ ตามมา อาทิ ภาวะไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจขาดเลือด


ทั้งนี้ แต่ละบุคคลจะมีสภาวการณ์ขาดฮอร์โมนที่แตกต่างกัน ส่งผลให้อาการที่แสดงออกมา แตกต่างกัน ตามชนิดที่ขาดและปริมาณของฮอร์โมนที่ลดลง อย่างไรก็ตาม หากเราสามารถรักษาฮอร์โมนให้อยู่ในระดับที่เท่ากับช่วงวัยหนุ่มสาว สุขภาพจะยังคงแข็งแรง หน้าตาสดใสเหมือนหนุ่มสาว ดังนั้น ผลพลอยได้จากการปรับฮอร์โมนคือ นอกจากจะสุขภาพดี มีชีวิตที่มีคุณภาพแล้ว ยังจะมีหน้าตาและผิวพรรณที่อ่อนกว่าวัย ไม่แห้งกร้าน

การคืนความสมดุลแห่งฮอร์โมน ทำได้อย่างไร?

อาหาร เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ดังนั้นเราควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และมีคุณภาพในอัตราส่วนที่เหมาะสม เช่น โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต ไม่หนักอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป เป็นระยะเวลานานๆ สิ่งสำคัญคือ การรับประทานอาหารให้มีความหลากหลาย เพื่อที่ร่างกายจะได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงหรือลดอัตราการรับประทานอาหารที่มีสารพิษตกค้าง หรือปนเปื้อนอยู่มากอันได้แก่ อาหารสำเร็จรูป รวมไปถึงวิธีการปรุง แนะนำควรจะเป็นการนึ่ง ต้ม ตุ๋น ลวก มากกว่าการ ทอด ปิ้ง หรือ ย่าง เพื่อลดการบริโภคกรดไขมันที่เป็นอันตราย

โดยกรดไขมันที่เราพบเจอในอาหารแต่ละมื้อนั้น มีทั้งชนิดที่มีประโยชน์และมีโทษต่อร่างกาย ซึ่งกรดไขมันอิ่มตัวแปรรูปที่สามารถพบได้ในของทอด อบ หรือย่าง โดยใช้อุณหภูมิสูงซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือด ในขณะที่กรดไขมันจากธัญพืช ไขมันปลา และน้ำมันมะกอกเป็นไขมันดีที่ช่วยลดการอักเสบ ดังนั้นจึงควรรับประทานไขมันจากเมล็ดพืช และไขมันปลา เพื่อช่วยลดอาการอักเสบของหลอดเลือดหัวใจ และการอักเสบในเซลล์ร่างกาย รับประทานปลาเพิ่มไขมันดี เพื่อให้เกิดความสมดุลกับไขมันที่ไม่ดีในเนื้อแดง และเลือกใช้น้ำมันมะกอกในการปรุงอาหาร เพราะนอกจากทำให้ไม่อ้วนแล้ว ยังช่วยปรับสมดุลกับไขมันไม่ดี ช่วยให้อิ่มนานและไม่หิวระหว่างวันด้วย



      การออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะทำให้สุขภาพดี ควรออกกำลังกายให้ได้เหงื่อ และหัวใจเต้นแรง ประมาณ 20 นาที 3-4 ครั้ง ต่ออาทิตย์ ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหักโหม เพราะแทนที่จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย กลับก่อให้เกิดอนุมูลอิสสระเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความเสื่อมต่อระบบต่างๆ ของร่างกายมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินชีวิตประจำวันก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรมองทุกอย่างในแง่ดี ไม่เครียด ทำงานอย่างมีความสุข รู้จักพักผ่อน นอนให้พอเพียง ทำจิตใจให้มีความสุข ร่างกายก็จะแข็งแรงไปด้วย

บางครั้งแม้ว่าเราจะปฎิบัติตัวแบบกินดี อยู่ดี แต่ก็ไม่สามารถรักษาระดับฮอร์โมนได้พอเพียงในกรณีเช่นนี้อาจต้องให้ฮอร์โมนเสริม หากใครรู้สึกสงสัยว่าตนเองมีอาการผิดปกติ หรือมีระดับฮอร์โมนบกพร่อง ประกอบกับอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กังวลการเข้าสู่วัยทอง รวมถึงแก่ก่อนวัย สามารถเข้ารับการตรวจระดับความบกพร่องของฮอร์โมน ซึ่งการตรวจสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การตรวจเลือด และปัสสาวะ หากผลวินิจฉัยว่าคุณเริ่มมีภาวะฮอร์โมนบกพร่องและอยู่ในระดับรุนแรงไม่มาก แพทย์อาจจะแนะนำให้รับประทานอาหารเสริม หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหาร หรือการออกกำลังกาย แต่ถ้าผลตรวจแสดงว่ามีภาวะฮอร์โมนบกพร่องรุนแรงมาก แพทย์จะแนะนำให้รักษาโดยการให้ฮอร์โมนทดแทน

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก: โรงพยาบาลเปาโล